ประวัติและความเป็นมา

พระราชวังรามราชนิเวศน์ หรือ พระราชวังบ้านปืน



         พระรามราชนิเวศน์แห่งนี้ตั้งอยู่ที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเพชรบุรี ที่บ้านปืน อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่5) โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์วรพินิต ผู้บัญชาการทหารเรือ กับ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงดำรงราชานุภาพ (พระยศในขณะนั้น) เป็นแม่กองดำเนินการก่อสร้างพระตำหนัก ถนน และสถานที่ต่างๆ รวมทั้งมีการสร้างพระราชวังแห่งนี้ เพื่อใช้สำหรับแปรพระราชฐานในฤดูฝน
 อาคารเป็นแบบสถาปัตยกรรมยุโรป  ออกแบบโดยมิสเตอร์คาล เดอริง ชาวเยอรมัน เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2452 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2459 โดยมี ดอกเตอร์ควดไบเยอร์ เป็นนายช่างก่อสร้าง นายคลูเซอร์ เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามว่า พระที่นั่งศรเพ็ชรปราสาท และทรงเปลี่ยนเป็นพระรามราชนิเวศน์เมื่อปี พ.ศ. 2461 ใช้เป็นที่รับรองแขกเมือง
ครั้นมาถึงรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดฯ ให้ปรับพระราชวังนี้เป็นสถานศึกษาของเหล่าครูในแขนงวิชาชีพต่าง ๆ มาจนกระทั่งวิชาชีพเหล่านี้แข็งแกรงขึ้นจนย้ายออกไปตั้งอยู่ที่อื่นได้ วังนี้จึงถูกปล่อยให้ทรุดโทรมลงอีกครั้ง หลังจากนั้น พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระราชวังแห่งนี้เป็นโรงเรียนวังพระรามราชนิเวศน์ โรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรม โรงเรียนฝึกหัดครูผู้กำกับลูกเสือในพระบรมราชูปถัมภ์ และโรงเรียนประถมวิสามัญหญิง จนกระทั่ง โรงเรียนเหล่านี้ย้ายออกไป พระราชวังบ้านปืนจึงถูกทิ้งให้รกร้างอีกครั้ง
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ฝ่ายทหารได้ใช้พระราชวังนี้เป็นที่ตั้งกองบัญชาการทหาร ปัจจุบัน โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้เป็นที่ตั้งของจังหวัดทหารบกเพชรบุรีและต่อมาได้เป็นมณฑลทหารบกที่15 และได้จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์และศิลปะของจังหวัดเพชรบุรี โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน โปรดฯ ให้ใช้พระราชวังบ้านปืนนี้เป็นหนาวยบัญชาการของ ทหารบก และเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร-ศิลปะของจังหวัดเพชรบุรีด้วย แต่หากเราจะขอเข้าชมก็ต้องได้รับการอนุญาตจากผู้บังคับการจังหวัดทหารบก กองพันที่ 3 กรมทหารราบที่ 11 เพื่อขอเข้าชมอย่างไม่เป็นทางการเสียก่อน

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
พระตำหนักได้ใช้ลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบบาโรค (Baroque) และแบบอาร์ต นูโว (Art Nouveau) หรือที่ เยอรมันเรียกว่าจุงเกนสติล(Jugendstil) ตัวพระตำหนักจะเน้นความทันสมัยโดยจะ ไม่มีลายปูนปั้น วิจิตรพิศดาร เหมือนอาคารในสมัยเดียวกัน พระตำหนักหลังนี้จะเน้นในเรื่องของความสูงของหน้าต่าง ความสูงของเพดาน ซึ่งกว้างเป็นพิเศษ ทำให้พระตำหนักดูใหญ่โต โอ่อ่า สง่างาม และตระการตา
แผนผังของตัวอาคารสร้างเป็น สี่เหลี่ยมผืนผ้าล้อมสวนหย่อม มีสระน้ำพุตั้งอยู่ตรงกลาง ส่วนที่ประทับเป็นตึก สองชั้นขนาดใหญ่ หลังคาทรงสูงรูปโดม ภายในเป็นโถงสูงมีบันไดโค้งขึ้นสู่ชั้นสองซึ่งจัดเป็นจุดเด่นของ พระตำหนักเพราะรวมสิ่งน่าชมไว้หลายหลาก ตัวอย่างเช่น เสาที่ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบและตกแต่งด้วยโลหะ ขัดเงา เสาเหล่านี้แล่นตลอดจากพื้นจดเพดานชั้นสองและประดับด้วยกระเบื้อง เขียวเข้ากันกับบริเวณ โดยรอบ โถงบันได ที่หัวเสาตาม ราวบันไดโค้งมีตุ๊กตากระเบื้องรูปเด็กในอิริยาบถต่าง ๆ ประดับไว้ รอบบริเวณโถงบันไดชั้น บนยังมีกรอบลูกไม้กระเบื้องเคลือบประดับตามช่องโดยรอบอีกด้วย
พระตำหนักหลังนี้ยัง มีสิ่งที่ น่าชมอีกมาก กล่าวคือ การตกแต่งภายในแต่ละห้องให้มีรูปลักษณ์แตกต่าง กันไปทั้ง สีสันและวัสดุที่ใช้ เช่น บริเวณโถงบันไดใช้โทนสีเขียว ห้อง เสวยใช้โทนสีเหลือง ตกแต่งช่องประตูด้วยเหล็กดัด แบบอาร์ต นูโว และประดับผนังด้วยแผ่นกระเบื้องเคลือบสีเหลืองสด ตัดกรอบด้วยกระเบื้องเขียวเป็นช่อง ๆ ตาม แนวยืน โดยกระเบื้องประดับผนังมีลวด ลายนูนเป็นรูปสัตว์และพรรณพืชต่าง ๆ แทรกอยู่เป็นระยะ ๆ ห้องพระ บรรทมใช้โทนสีทอง โดยตกแต่งเสาในห้องด้วยแผ่นโลหะสีทองขัดเงาดุนลาย หัวเสาเป็นภาพเขียนแจกัน ดอกไม้หลากสี บนพื้นครึ่งวงกลมสีทอง ดูสง่างาม
      ภายในตำหนักชั้นล่างประกอบด้วย ห้องรอเฝ้า ท้องพระโรงกลาง ห้องเสวย ห้องเครื่อง และห้องเทียบเครื่อง ส่วนสำหรับในห้องเสวยนั้น มีการตกแต่งด้วยโทนสีเหลือง โดยเชื่อว่าสีเหลืองนั้นจะทำให้ทรงพระเจริญอาหาร ในห้องเสวยใช้กระเบื้องและรูปปั้นที่มาจากประเทศจีน
      ที่ชั้นล่างของพระราชวังบ้านปืน จะแตกต่างกับพระราชวังอื่นตรงที่มีสนามแบตมิตตัน อยู่ตรงกลางพระราชวัง แต่ปัจจุบันกรมศิลปากร ได้ปรับปรุงใหม่ให้เป็นสวนยุโรปแทน สำหรับทางขึ้นไปยังชั้นบนนั้นเป็นบันไดวน 2 บันไดอยู่ตรงข้ามกัน เมื่อขึ้นไปอยู่ด้านบนแล้วมองลงมา จะเห็นกระเบื้องลายเกร็ดปลาที่พื้นด้านล่างเป็น สามมิตินูนขึ้นมา
       ชั้นบนของพระราชวังจะเป็นห้องพระบรรทมใหญ่ ห้องพระบรรทมพระราชินี ห้องพระบรรทมเจ้าฟ้าฯ และห้องทรงพระอักษร ในห้องพระบรรทมเป็นห้องโล่งๆ ไม่มีเฟอร์นิเจอร์ ของเดิมหลงเหลืออยู่ มีเพียงตู้ไม้ที่ Build in ไปกับฝาผนัง ส่วนพื้นไม้ ได้มีการบูรณะใหม่ทดแทนของเดิมที่เสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา


การเข้าชมและการเดินทาง


เวลาเปิด – ปิด
จันทร์ – ศุกร์ 8.30 – 16.00
เสาร์ – อาทิตย์และวันหยุดราชการ 8.30 – 16.30

ค่าเข้าชม
- ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท
- นักเรียนนักศึกษาในเครื่องแบบ 5 บาท
- ชาวต่างชาติ 50 บาท
สำหรับผู้ที่ต้องการจะเข้าชมเป็นหมู่คณะ และต้องการวิทยากรบรรยาย สามารถทำหนังสือถึงผู้บังคับการทหารบกจังหวัดเพชรบุรี ค่ายรามราชนิเวศน์ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี 76000 โทร. (032) 428-506-10 ต่อ 259
การเดินทางมาพระราชวังบ้านปืน พระรามราชนิเวศน์
จากแยกเข้าตัวเมืองเพชรบุรี ใช้ถนนเพชรเกษม ตรงมาประมาณ 3 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าถนนราชดำริ และเลี้ยวซ้าย อีกครั้งเข้าถนนราชดำเนิน เลี้ยวขวาเข้าถนนดำรงรักษ์ พระราชวังบ้านปืนจะอยู่ในค่ายทหาร ค่ายรามราชนิเวศน์ จะต้องแลกบัตรกับทหารที่ทางเข้า
แผนที่พระราชวังบ้านปืน พระรามราชนิเวศน์
คลิกเพื่อขยาย
คลิกเพื่อขยาย

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

http://th.wikipedia.org
https://picasaweb.google.com/jkcopp/Unnamed03
http://www.thaizest.com
http://www.hoteldirect.in.th
http://www.gotoknow.org
- www.google.com